อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
แหล่งท่องเที่ยว
วัดบ้านขวาง

ประวัติวัดบ้านขวางตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เดิมวัดบ้านขวางมีสภาพเป็นป่ารก สันนิษฐานว่าสร้างมาในสมัยกรุงสุโขทัย เพราะดูรูปอุโบสถและเจดีย์หลังเก่าเป็นทรงอุโบสถในสมัยสุโขทัยและได้มีหลวงตาขำซึ่งเป็นพระมาจากอารามอื่นได้มาพักและได้มาร่วมกับชาวบ้านร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์จนเป็นอารามขึ้นแต่ยังไม่เจริญ หลวงตาขำก็ไปอยู่ที่อื่นไม่ปรากฏว่าอยู่ที่ใด เหตุที่ได้ชื่อว่าวัดบ้านขวางตามคำเล่าสืบกันมาหมู่บ้านได้ขวางทางเดินที่จะไปสู่ตัวอำเภอ เพราะในสมัยนั้นการสัญจรไม่สะดวกต้องเดินด้วย เท้าบ้าง เกวียนบ้าง ผู้คนในสมัยกรุงสุโขทัยที่จะติดต่อหรือเข้าไปในเขตธานีซึ่งเป็นตัวอำเภอในปัจจุบัน เมื่อออกจาก กรุงสุโขทัยจะมาพบหมู่บ้านที่ขวางทางเดินต้องเดินผ่านหมู่บ้านนี้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านขวางทางเดินอยู่จึงได้ชื่อว่าบ้านขวาง ชาวบ้านเลยร่วมกันบูรณะสร้างวัดขึ้นเพื่อการทำบุญ วัดบ้านขวาง หรืออีกนามหนึ่งว่า “วัดกลางบ้านขวาง” สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๓ มีนาคมตามชื่อบ้านประชาชนร่วมใจกันสร้างวัดนี้ โดยได้รับพระราชทานวิสุงครามศรีมาในราวปี พ.ศ.๒๔๔๘ วัดบ้านขวาง ตังอยู่ เลขที่ ๑๖๗ หมู่ที่ ๒ ชุมชนบ้านขวาง ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๒๗ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือติดคลองแม่รำพัน มีพื้นที่ ๒๑๒ เมตร ทิศใต้มีอาณาเขตติดกับถนนจรดวิถีถ่อง มีพื้นที่ ๒o๕ เมตร ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดกับทางสาธารณะหมู่บาน มีพื้นที่ ๑๑๘ เมตร ทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดกับหมู่บ้าน มีพื้นที่ ๑๓๒ เมตร โดยมีโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน พื้นที่ตั้งวัดอยู่ริมคลองแม่ลำพัน มีถนนจรดวิถีถ่องสายที่ ๑๒ สุโขทัย – ตาก เป็นทางคมนาคมติดต่อสะดวก อาคารเสนาสนะต่างๆ มีอุโบสถ ๑ หลัง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๘ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ มีการชำรุด แล้วได้ทำการบูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ สมัยพระครูบุญชู สิริปุญโญ เป็นเจ้าอาวาส เริ่มก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๔ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๓o พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๑ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ หอระฆัง ๓ ชั้น กุฏิสงฆ์ จำนวน ๖ หลัง โรงเรียนพระปริยติธรรม จำนวน ๑ หลัง ศาลาธรรมสังเวช จำนวน ๑ หลัง และเมรุ จำนวน ๑ หลัง สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถองค์ใหญ่ คือ พระพุทธชินวัฒน์ หรือ หลวงพ่อโต ที่ชาวบ้านเคารพกราบไหว้นับถือกัน เป็นพระพุทธรูปเก่าคู่บ้านคู่เมืองมานาน